คน ก.ท.ม. กับ หมาจรจัด

ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร

เมื่อวันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคมศกนี้ ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเสวนาพิเศษ จัดขึ้นโดยกรุงเทพมหานคร เรื่องเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนชาว ก.ท.ม. เพื่อแก้ปัญหาหมาจรจัด นัยว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากสังคมคน ก.ท.ม. ที่มีความเห็นหลากหลายต่อปัญหาหมาจรจัด ซึ่งรังแต่จะยิ่งเป็นปัญหาหนักอกของคนใน ก.ท.ม. มากขึ้นทุกวัน

ผมเองในฐานะชาว ก.ท.ม. คนหนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวพันกับหมาทั้งส่วนตัว คือ ความรัก ความชอบ และอาชีพ คือ การรักษาพยาบาลหมาที่เจ็บป่วย จึงใคร่ขอรวบรวมข้อมูลและเหตุการณ์จากการเสวนาพิเศษดังกล่าว มาเผยแพร่แก่ท่านผู้อ่านและประชาชนชาว ก.ท.ม. ที่มิได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเพื่อเป็นข้อมูลในการคิด และตัดสินใจหาทางแก้ปัญหาหมาจรจัดต่อไปในอนาคต ดังนี้

หมาจรจัดคืออะไร ? เราพบว่าหมาจรจัดนั้นมีคำจำจัดความได้หลายอย่าง เช่น หมาไร้บ้าน หมาไม่มีเจ้าของ หมาที่ขาดผู้รับผิดชอบ หมาพลัดหลง หมาเร่ร่อน หมาพเนจร ฯลฯ

หมาจรจัดมาจากไหน ? ที่มาหลักก็คือ จากบ้านคน ส่วนใหญ่ของหมาจรจัดมาจากหมาบ้าน หมาที่เคยมีเจ้าของนี่แหละครับ ส่วนเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นหมาจรจัดที่พลัดหลงข้ามถิ่นจากจังหวัดรอบๆก.ท.ม. และพวกที่เป็นหมาจรจัดโดยกำเนิดหรือชาติตระกูลเป็นหมาจรจัดที่แพร่พันธุ์กันขึ้นมา

กำเนิดหมาจรจัด การเกิดหมาจรจัดพอจะประมวลได้ดังนี้

    1. โดยอุบัติเหตุ เช่น พลัด หลง หลุดจากบ้านแล้วกลับไม่ถูกหรือหลงระเริงไปจนไม่กลับบ้าน มักพบกับหมาเพศผู้หนุ่มๆ แตกพานออกไปติดหมาเพศเมีย ฯลฯ รวมถึงพวกที่เลี้ยงหมาแบบปล่อยสะเปะ สะปะ เจ้าของมีหน้าที่ให้อาหารอย่างเดียว ไม่ได้ดูดำดูดีว่าหมาของตนจะออกไปทำอะไรที่ไหน ฯลฯ
    2. โดยเจ้าของ ประเภทนี้เป็นความตั้งใจที่จะอัปเปหิหมาออกจากบ้าน โดยตัวเจ้าของหมาเอง ทำให้เกิดเหตุเทวดาตกสวรรค์ขึ้น อันมีสาเหตุจาก
      1. หมาไม่ได้สวยน่ารักดั่งใจนึก เช่น ขี้เหร่ มีตำหนิ ผิดพันธุ์ ฯลฯ คลาดเคลื่อนจากความหวังเมื่อซื้อมาขณะเป็นลูกหมา
      2. เจ็บไข้ได้ป่วย เบื่อการรักษาเยียวยา ภาระและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ยิ่งยุคไอ.เอ็ม. เอฟ. ด้วยแล้ว เจ้าของเองยังเอาตัวไม่รอดเลย
      3. นิสัยไม่เหมาะสม มักพบว่าเป็นหมาดุอันตรายเลี้ยงไม่ไหว จำเป็นต้องโละทิ้งไป
      4. ประชากรหมาล้นบ้าน ท่านที่ลืมวางแผนครอบครัวหมาในบ้านเผลอแผลบเดียวขยายพันธุ์จนล้นหลาม เกินกว่าจะเลี้ยงดูไหว ทำให้ต้องจัดการขับออกไปเป็นหมาจรจัด

ผลกระทบจากหมาจรจัดมีอะไรบ้าง ? หมาจรจัดก่อให้เกิดปัญหาต่างๆอันกระทบต่อคนก.ท.ม. โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

    1. ผลกระทบทางสาธารณสุข หมาจรจัดเป็นพาหะสำคัญของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งคร่าชีวิตคนในกรุงเทพมหานครเป็นประจำทุกปี จนจัดว่า ก.ท.ม. เป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในโลกที่มีสถิติของโรคพิษสุนัขบ้าสูงติดอันดับต้นๆ
    2. ผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม ได้แก่
      1. ทางเสียง เช่น การเห่าหอน ทำความรำคาญ
      2. สร้างสิ่งปฏิกูล เช่น การถ่ายอุจจาระตามที่ต่างๆ รื้อคุ้ยขยะเลอะเทอะ แล้วมีหนูมารับช่วง
      3. ทางสายตา เช่น สภาพหมาจรจัดที่เจ็บป่วยทรุดโทรม เป็นภาพไม่ชวนมอง

      ฯลฯ

    3. ด้านเศรษฐกิจ เช่น ก.ท.ม. ต้องเสียงบประมาณเพื่อจัดการกับหมาจรจัดเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยต้องเสียเงินตราต่างประเทศไปเพื่อนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคน และหมาเพื่อฉีดป้องกัน และในกรณีโดนหมาจรจัดกัด ฯลฯ

ยังไม่หมดครับสำหรับเรื่องราวของคน ก.ท.ม. กับ หมาจรจัด โปรดติดตามบทสรุปได้ในตอนต่อไป พลาดไม่ได้ครับ เพราะจะให้ข้อมูลสำหรับท่านผู้อ่านเพื่อใช้ประมวลหาแนวทางออกอันเป็นของท่านเอง อย่างเป็นเหตุ เป็นผล และมีระบบ

เมื่อตอนแรกในอาทิตย์ที่แล้วเราได้เกริ่นกันไปถึงคำจำกัดความของ “หมาจรจัด” แหล่งที่มา กำเนิดหมาจรจัด และผลกระทบต่อขาว ก.ท.ม. ฯลฯ ซึ่งวันนี้จะขมวดบทสรุปไว้ดังต่อไปนี้

คน ก.ท.ม. คิดอย่างไรต่อหมาจรจัด ?

    1. หมาจรจัดเป็นเพื่อนร่วมโลกที่สมควรได้รับการเหลียวแลเอาใจใส่
    2. หมาจรจัดเกิดจากความไม่รับผิดชอบต่อสังคมและชีวิตสัตว์ของเจ้าของหมาที่ขาดสำนึก
    3. ปัญหาหมาจรจัดเป็นปัญหาของคน ก.ท.ม. ที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้
    4. หมาจรจัดก่อปัญหาต้องรีบแก้ไข
    5. เมืองไทยเป็นเมืองพุทธไม่ควรทำลายหมาจรจัด
    6. หมาจรจัดเป็นตัวนำโรคร้าย คือ โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งทำให้ถึงตาย จึงต้องควบคุมดูแลอย่างจริงจัง
    7. ช่างมันไม่สนใจ ไม่อยากยุ่งเกี่ยว เสียเวลา เสียงสตางค์ ธุระไม่ใช่
    8. ไม่ควรเสียสตางค์ไปกับหมาจรจัด น่าจะมาใช้ดูแลคนจรจัด คนจน คนไม่มีจะกินในยุค ไอ.เอ็ม.เอฟ เช่นนี้จะดีกว่า

ฯลฯ

คน ก.ท.ม. ทำอะไรกับหมาจรจัดบ้าง ?

    1. ช่วยให้ข้าว ให้น้ำ
    2. พาไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
    3. พาไปทำหมัน คุมกำเนิด
    4. ปกป้องคุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่จับไปทำลาย
    5. นำไปเลี้ยงดูไว้เอง
    6. เจ็บป่วยพาไปหาหมอ
    7. ไล่เตะ ยิงหนังสติ๊กใส่เมื่อพบเห็นเกะกะ
    8. แจ้งให้เจ้าหน้าที่มาจับไปทำลาย
    9. เก็บเศษอาหารและถังขยะอย่างมิดชิด จนหมาขุดคุ้ยไม่ได้
    10. วางยาเบื่อเมื่อเข้ามารบกวนในชุมชน

ฯลฯ

ข้อเสนอแนะของคน ก.ท.ม. เพื่อการแก้ไขปัญหาหมาจรจัด

    1. จัดบริการฉีดวัคซีน ฉีดยาคุมกำเนิด และทำหมันฟรีแกหมาจรจัด
    2. ให้ ก.ท.ม. จัดหาที่เลี้ยงหมาจรจัดไว้จนหมดอายุขัยไปเอง โดยแบ่งแยกเป็น 2 เพศ เพื่อจะได้ไม่ต้องทำหมันให้สิ้นเปลือง
    3. จัดระเบียบการเลี้ยงหมาของชาว ก.ท.ม. โดยการขึ้นทะเบียน
    4. จัดระเบียบผู้ประกอบกิจการค้าขายหมา เพื่อให้รับผิดชอบต่อคุณภาพหมาที่ขายไป และสะดวกในการจดทะเบียนเมื่อเริ่มต้น
    5. จัดกลุ่มอาสาสมัครเพื่อดูแลหมาจรจัดภายใต้การสนับสนุนของ ก.ท.ม.
    6. ให้ ก.ท.ม. ยุติการจับหมาไปทำลาย
    7. ดำเนินการให้มีสถานที่กลางเพื่อการแจกจ่ายหมาสำหรับผู้ต้องการนำไปเลี้ยงโดยไม่คิด มูลค่า
    8. เริ่มกระตุ้นตลอดจนสร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงโดยไม่คิดมูลค่า
    9. ต้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องตลอดไปมิใช่แบบไฟไหม้ฟาง

ก.ท.ม. ทำอะไรกับหมาจรจัดบ้าง ?

    1. จับและทำลาย
    2. ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและคุมกำเนิดฟรีแก่หมาบ้านและหมาจรจัด
    3. รณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จัดทำประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้แก่ประชาชน
    4. ระดมความคิดจากนักวิชาการ และประชาชนเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาหมาจรจัด

ชาว ก.ท.ม. จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหมาจรจัดได้อย่างไร ?

    1. มีความรับผิดชอบต่อหมาที่เลี้ยงอยู่ตลอดชั่วชีวิต ไม่ทิ้งขว้าง ปล่อยปละละเลย ตลอดจนวางแผนคุมกำเนิดครอบครัวหมาด้วย
    2. ให้ความร่วมมือกับ ก.ท.ม. เมื่อมีการจัดระเบียบการเรื่องหมาโดยวิธีจดทะเบียนหมาบ้าน
    3. เก็บขยะมูลฝอย เศษอาหารให้มิดชิดเพื่อมิให้เป็นแหล่งอาหารของหมาจรจัด
    4. ช่วยกันนำหมาจรจัดไปเลี้ยงตามลำพัง
    5. ช่วยกันประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้เกิดการเลี้ยงหมาอย่างมีคุณภาพ

จากเนื้อหาทั้ง 2 ตอนของ “คน ก.ท.ม. กับหมาจรจัด” เป็นส่วนหนึ่งที่ได้มาจากความคิดเห็นของนักวิชาการ และประชาชนชาว ก.ท.ม. ซึ่งหากมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีกสามารถส่งไปให้ ก.ท.ม. ได้โดยตรงครับ

 

กลับไปหน้า "คอลัมน์สัตว์เลี้ยง"