โรคพาร์โวไวรัสในห่านและเป็ดเทศ

สัตวแพทย์หญิงพรทิพย์ ศิริวรรณ์ กลุ่มงานไวรัสวิทยา
สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ


โรคพาร์โวไวรัสในห่าน เป็นโรคระบาด ที่สำคัญในห่านและเป็ดเทศ ไม่พบรายงานในสัตว์ชนิด อื่น รวมทั้งคน โรคนี้มีการติดต่อรวดเร็วและรุนแรง ทำความเสียหายให้ห่านและเป็ดเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะลูกอายุน้อยกว่า 1 สัปดาห์ อัตราตายอาจสูงถึง 100% พบมีการระบาดครั้งแรกในประเทศจีน เมื่อปี ค.ศ.1956 ต่อมาพบมีการระบาดในยุโรปหลายประเทศ เช่น โปแลนด์ เยอรมันนี ฮังการี บัลกาเรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส รัสเซีย และประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา ไต้หวัน เวียดนาม อิสราเอล ทำให้มีชื่อเรียกหลายชื่อตาม ลักษณะของโรค เช่น Goose hepatitis, Goose plague, Goose influenza, Viral enteritis in gosling,infectious myocarditis, Hepatonephritis ascitis และ Derzsy’s disease ซึ่งในปี ค.ศ.1971 Schettler พิสูจน์ว่าเกิดจากเชื้อพาร์โวไวรัส ดังนั้นต่อมาจึงเรียก ชื่อใหม่ว่า Goose parvovirus

โรคพาร์โวไวรัสในเป็ดเทศ พบระบาด เฉพาะในเป็ดเทศเท่านั้น โดย Fournier และ Gaudry รายงานการพบพาร์โวไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในเป็ดเทศที่ ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1989 เรียกว่า Muscovy duck parvovirus ซึ่งจะแตกต่างจาก Goose parvovirus ในด้านคุณสมบัติการเป็นแอนติเจน พยาธิ กำเนิด และสัตว์ที่เป็นโรค

ตารางที่ 1 ความแตกต่างของพาร์โวไวรัสในห่านและเป็ดเทศ

  พาร์โวไวรัสในห่าน พาร์โวไวรัสในเป็ดเทศ
1. สัตว์ที่เป็นโรค ห่านและเป็ดเทศ พบเฉพาะในเป็ดเทศ
2. พยาธิกำเนิด

ระยะฟักตัว

อาการ

วิการ

 

10 วัน

เคลื่อนไหวลำบากไม่พบอาการอัมพาต

เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีน้ำในช่องท้อง มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ

 

4 - 5 วัน

ชักคอแหงนไปด้านหลังและพบอาการ อัมพาต

มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ

3. การเจริญในเซลล์  เจริญได้ดีในเซลล์ที่กำลังแบ่งตัว เจริญใน monolayer cell ได้ดีกว่าเซลล์ที่กำลังแบ่งตัว
4. คุณสมบัติการเป็นแอนติเจน โดยทำ cross neutralization พบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างพาร์โวไวรัสในห่านและเป็ดเทศ  

สาเหตุ 

เกิดจากเชื้อพาร์โวไวรัส family Parvoviridae รูปร่าง hexagonal non enveloped ขนาดเส้นผ่าศูนย์ กลาง 20-22 nm. เชื้อพาร์โวไวรัสมีความทนทานต่อ อุณหภูมิสูงและสารเคมีได้ดีที่อุณหภูมิ 65oC 30 นาที pH 3 1 ชั่วโมง และคลอโรฟอร์มไม่มีผลต่อเชื้อไวรัส ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ได้ผลดี คือ 0.5 % ฟอร์มาลิน จะสามารถ ทำลายเชื้อได้ภายในเวลา 15 นาที

การแพร่กระจายของเชื้อ

สัตว์ที่ติดเชื้อจะปล่อยเชื้อจำนวนมากออกมากับ อุจจาระ ทำให้มีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วโดยการกิน อาหารและน้ำที่มีเชื้ออยู่ ไม่พบรายงานการติดเชื้อทาง ระบบหายใจหรือเยื่อบุตา ในการระบาดที่รุนแรง มัก เกิดจากการติดเชื้อผ่านไข่คัพภะจะตายทั้งในระหว่าง เข้าฟักหรือหลังจากฟักออกมาแล้ว ซึ่งขึ้นกับความรุน แรงของการติดเชื้อและระดับภูมิคุ้มกันจากแม่ ลูกที่ติด เชื้อเมื่ออายุต่ำกว่า 1 สัปดาห์ อาจตายได้ถึง 100% ถ้า ติดเชื้อเมื่ออายุ 4-5 สัปดาห์ขึ้นไป หรือมีภูมิคุ้มกันจาก แม่มักไม่แสดงอาการป่วย แต่สามารถตรวจพบแอนติบอดีได้ และจะเป็นตัวแพร่เชื้อออกสู่สภาพแวดล้อม ทำให้มีการแพร่ระบาดมากขึ้น

อาการ

ในลูกที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจากแม่ จะพบมีอาการ ป่วยเมื่ออายุ 5-7 วัน มีการเคลื่อนไหวลำบาก กินอาหาร น้ำลดลง หยุดการเจริญเติบโต ท้องเสีย บางครั้ง พบเยื่อบุลำไส้ลอกหลุดออกมาด้วย ส่วนในลูกที่ติดเชื้อ เมื่อมีอายุมากขึ้น หรือ มีภูมิคุ้มกันจากแม่จะพบอาการ ในบางตัวหรืออาการไม่รุนแรง สัตว์จะแคระแกรน ขน บริเวณคอและหลัง เจริญไม่ดี บางตัวมีน้ำในช่องท้อง

อัตราการตายของลูกที่ติดเชื้อในตู้ฟักอาจถึง 100% ส่วนลูกห่านที่ติดเชื้อเมื่ออายุ 2-3 สัปดาห์อัตรา การตาย อาจต่ำกว่า 10% ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัด การฟาร์มไม่ดี การติดเชื้อแบคทีเรียเชื้อราหรือเชื้อ ไวรัส อื่น จะมีผลต่ออัตราการตายที่เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนลูกที่ติด เชื้อเมื่ออายุมากกว่า 4 สัปดาห์ มักไม่แสดงอาการ ป่วย แต่อย่างไรก็ตามห่านและเป็ดเทศทุกอายุสามารถ ติดโรค ได้ ซึ่งจะตรวจพบแอนติบอดีได้โดยไม่แสดงอาการ

วิการ 

ในรายเฉียบพลันจาก รายงานวิการที่พบบ่อยๆ คือ กล้ามเนื้อหัวใจซีด ปลายหัวใจ กลมมน ส่วนตับ ม้าม ตับอ่อน อาจบวมหรือมีเลือดคั่ง ส่วนในรายรายเรื้อรังจะพบอาการอักเสบของตับและหัวใจ มีน้ำสีฟางข้าวในช่องท้องและ ลำไส้อักเสบ สำหรับการระบาดในประเทศไทยวิการที่พบ เด่นชัด คือ เยื่อบุลำไส้ลอกหลุด

การระบาดของโรคพาร์โวไวรัสในประเทศไทย

พบมีการระบาดของโรคเป็นครั้งแรกในห่านเมื่อปี 2536 โดยมีความรุนแรงมาก สัตว์จะแสดงอาการป่วยและตาย อย่างรวดเร็ว อัตราการตายสูง ซึ่งในการระบาดครั้งแรกนี้ ทำให้ลูกห่านตายไป 50,000 กว่าตัว ในเขตจังหวัดอยุธยา อ่างทอง นครปฐม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สมุทรปราการ ได้ทำความเสียหายให้วงการเลี้ยงห่าน คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 11 ล้านบาท โดยลูกห่านอายุ 4-30 วัน มีอาการ ซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำ ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลว คล้ายแป้ง บางตัวมีเยื่อบุลำไส้ลอกหลุด คอสั่น และชักตาย ระยะเวลาป่วยถึงตาย 1-2 วัน มีอัตราการตายสูง โดย เฉพาะลูกห่านอายุต่ำกว่า 1 สัปดาห์ ตายเกือบ 100% ซึ่งจากประวัติพบว่าลูกห่านที่ป่วยตายในจังหวัดต่างๆ เป็น ลูกห่านที่ซื้อมาจากตู้ฟักบริเวณเขตสัมพันธวงศ์ และเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ซึ่งตู้ฟักเหล่านี้รับไข่ห่าน มาฟักจาก ฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ทั้งหมด 11 ฟาร์ม ซึ่งมีห่านพ่อแม่พันธุ์ ประมาณ 100,000 ตัว

ปลายปี 2536 พบการระบาดของโรคพาร์โวไวรัสใน เป็ดเทศเป็นครั้งแรกที่จังหวัดปราจีนบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ซึ่งการระบาดครั้งนี้ทำความเสียหายให้ลูกเป็ดเทศอายุต่ำ กว่า 1 เดือน โดยลูกเป็ดเทศ อายุ 2-15 วัน ตายถึง 90% ซึ่งอาการที่พบมีหลายแบบ ในลูกเป็ดเทศอายุน้อยมัก แสดงอาการท้องเสีย อุจจาระมีสีขาวปน บางตัวมีเยื่อบุลำไส้ ลอกหลุดมาด้วย ส่วนเป็ดรุ่นแสดงอาการขนร่วง การ เจริญเติบโตไม่ดี ตัวที่รอดตายจะแคระแกรน ปากสั้น หลังจากการระบาดครั้งนี้แล้วในปีต่อๆ มาพบการระบาด ในอีกหลายจังหวัด เช่น ลพบุรี ขอนแก่น สงขลา เป็นต้น

จาการศึกษาเชื้อไวรัสที่แยกได้โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ อิเล็กตรอน พบลักษณะของพาร์โวไวรัสรูปร่าง hexagonal มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 18-20 nm และเมื่อผ่านเชื้อ เข้าในลูกห่านและลูกเป็ดทดลอง พบว่ามีอาการและวิการ เช่นเดียวกับที่พบในท้องที่ ส่วนเป็ดเทศที่รอดตายจะแคระ แกรนมากเมื่อเปรียบเทียบกับตัวที่ไม่ได้รับเชื้อ

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าพาร์โวไวรัสในห่านพบเป็นได้ ในห่านและเป็ดเทศ ส่วนพาร์โวไวรัสในเป็ดเทศพบเฉพาะ ในเป็ดเทศเท่านั้น ดังนั้นการระบาดของพาร์โวไวรัสในเป็ด เทศ จะเกิดได้ทั้งจากเชื้อพาร์โวไวรัสในห่านและเป็ดเทศ ซึ่งมี antigenicity ต่างกัน ดังนั้นวัคซีนป้องกันโรคพาร์โวไวรัส ในห่านจึงไม่สามารถป้องกันโรคพาร์โวไวรัส ในเป็ดเทศได้ ปัจจุบันสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ สามารถตรวจแยก สายพันธุ์ของเชื้อพาร์โวไวรัสทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ได้จากการ ตรวจโดยวิธี PCR-RFLP (Polymerase chain reaction - restriction enzyme fragment length polymorphism) พบว่าเชื้อ พาร์โวไวรัสที่ระบาดในเป็ดเทศ มีทั้งเชื้อ พาร์โวไวรัส ในห่านและเชื้อพาร์โวไวรัสในเป็ดเทศ

การตรวจวินิจฉัย

จากประวัติ อาการ วิการ และวิธีการต่างๆ ดังนี้

การตรวจแอนติบอดี

วิธีนี้ใช้ทั่วไป เป็นวิธีนิวทราลไลเซชั่นในไข่ห่านฟัก ไข่ เป็ดเทศฟักหรือในเซลล์เพาะเลี้ยง ส่วนวิธี Agar gel precipitation test ถึงแม้จะมีความไวน้อยกว่า แต่ก็เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับการตรวจซีรั่มจำนวนมาก ถ้า ตรวจพบว่าลูกมีแอนติบอดี แสดงว่าพ่อแม่พันธุ์มี การติดเชื้อ

การแยกเชื้อไวรัส

ใช้ตัวอย่าง ตับ หัวใจ ม้าม ไต ฉีดเข้าไข่ห่านฟัก ไข่เป็ดเทศฟัก คัพภะจะตายหลังฉีดเชื้อ 5-10 วัน โดยมีลักษณะแดง บวมน้ำ ในทำนองเดียวกันเชื้อไวรัสสามารถแยกได้โดยผ่านเชื้อลงในเซลล์เพาะเลี้ยง ที่เตรียมจากคัพภะห่านหรือเป็ดเทศ

การตรวจโดยวิธี PCR-RFLP

จะเพิ่มปริมาณ DNA ในหลอดทดลองโดยใช้ primer ที่เหมาะสม แล้วตัดด้วยเอ็นไซม์ตัดจำเพาะ ซึ่งวิธีนี้จะตรวจได้รวดเร็วและสามารถใช้ตรวจแยกสายพันธุ์ ของพาร์โวไวรัสในห่านและเป็ดเทศได้

การป้องกันและควบคุมโรค

การควบคุมที่ได้ผลดีโดยการแยกฝูงที่ไม่ติดเชื้อออกจากฝูงที่ติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อมีความทนทานต่อสารเคมีและความร้อน ดังนั้นควรระวังการแพร่เชื้อซึ่งอาจติดไปกับเสื้อผ้า ถุงอาหาร ถาดไข่ รถที่แล่นเข้าออกฟาร์ม ห้ามนำไข่จากฟาร์มที่ติดเชื้อเข้าฟักรวมกับไข่จากฟาร์มที่ปลอดเชื้อ และควรทำความสะอาดตู้ฟักเป็นประจำ ไม่ควรนำห่านและเป็ดเทศที่รอดตายจากการเป็นโรคมาทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ เนื่องจากโรคนี้ทำให้เกิดการตายในลูกห่าน ลูกเป็ดเทศ อายุต่ำกว่า 1 เดือน ดังนั้นการควบคุมป้องกันโรคจึงมุ่งไปที่การทำให้ลูกมีภูมิคุ้มกันในช่วงเดือนแรกโดยการฉีด hyperimmune serum ให้วัคซีนพ่อแม่พันธุ์เพื่อให้ถ่ายทอดภูมิคุ้มกันมายังลูก และให้วัคซีนลูก การฉีด hyperimmune serum ให้ลูกในกรณีเกิดการระบาดหรือกรณีลูกฟักจากไข่ที่ได้จากฝูงที่ติดเชื้อ ดังนั้นจึงควรฉีดซีรั่มตั้งแต่ยังอยู่ที่ตู้ฟัก ซึ่งในระยะแรกที่เกิดการระบาด สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ได้ผลิตซีรั่มที่เตรียมจาก ห่านป่วยที่รอดตาย ฉีดเข้าใต้ผิวหนังให้ลูกห่านอายุ 1 วัน และฉีดซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุประมาณ 10 วัน พบว่า สามารถลดอัตราการตายลงจาก 100% เหลือเพียง 10% ซึ่งหลังจากมีการนำเข้าวัคซีน จึงได้ทดลองให้วัคซีน แก่ลูกห่านแทนการให้ซีรั่มครั้งที่สอง พบว่าให้ผลดี เช่นเดียวกัน สามารถช่วยชีวิตลูกห่านได้ 2 แสนกว่าตัว แม้ว่าวิธีนี้จะใช้ได้ผลดี แต่มีข้อจำกัดเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง และเสียเวลาในการเตรียมซีรั่ม ดังนั้นแนะนำให้ฉีดวัคซีนในพ่อแม่พันธุ์เพื่อให้ถ่ายทอดภูมิคุ้มกันมายังลูก โดยให้วัคซีน 2 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 2 ควรฉีดประมาณ 1 เดือนก่อนเริ่มวางไข่ และฉีดซ้ำอีกครั้งช่วงสิ้นสุดฤดูวางไข่ ส่วนลูกที่จะนำไปเลี้ยงควรให้วัคซีนเมื่ออายุประมาณ 10-14 วัน อย่างไรก็ตามในฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ที่เกิดโรค ควรหยุดฟักไข่ประมาณ 2-3 เดือน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ เนื่องจากลูกที่ฟักออกมามักป่วยเป็นโรคตาย ซึ่งจะปล่อยเชื้อจำนวนมากออกมากับอุจจาระ ทำให้มีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วและควรคำนึงถึงสายพันธุ์ของเชื้อพารโวไวรัสที่ระบาดอยู่ในบริเวณนั้นก่อนให้วัคซีน