ลูกแมวตัวแรก

ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร

cat21.gif (5406 bytes)

ท่านผู้รักเหมียวทั้งหลายอาจจะเคยเลี้ยงแมวมาโดยใช้ประสบการณ์ การลองผิดลองถูก รอดบ้าง ตายบ้าง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจาก ผู้เลี้ยงขาดความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับชีวิตของลูกแมว ดังนั้นผมจึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อลูกแมวตัวใหม่ของท่านที่ริเริ่มเลี้ยง ตลอดจนแก้ไขป้องกันเหตุอันเกิดแก่ลูกแมวตัวต่อๆ ไปครับ

ลูกแมวเกิดใหม่จะมีขนาดความยาวประมาณ 11 ถึง 15 เซนติเมตร น้ำหนักตัวเฉลี่ย 70 ถึง 135 กรัม ดวงตาปิด และใบหูพับไปข้างหลังทั้งคู่ เป็นเหมือนหูหนวกตาบอดไม่ได้ยิน ไม่เห็นตั้งแต่เกิด รวมถึงเคลื่อนที่ไม่ได้เพราะขายังไม่แข็งแรงพอที่ยืนขึ้น มันจึงต้องพึ่งแม่ตลอดเวลา ลูกแมวจะเริ่มลืมตาเมื่ออายุราว 5 ถึง 10 วัน และจะเบิกตาได้เต็มที่ระหว่าง 8 ถึง 20 วัน เมื่อมองตาลูกแมวที่ลืมใหม่ๆ จะเห็นเป็นสีฟ้า-เทา ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนสีไปได้อีก สีตาถาวรของลูกแมวจะปรากฎเมื่ออายุ 12 อาทิตย์

การคืบคลานของลูกแมวเริ่มขึ้นเมื่ออายุ 16 ถึง 20 วัน จากนั้นก็จะยืนทรงตัวและเดินได้เมื่อวันที่ 21 จากนั้นจะวิ่งปร๋อเมื่ออายุได้ 4 ถึง 5 อาทิตย์

หากดูในแง่อาหารการกิน ลูกแมวจะหย่านมถาวรเมื่ออายุประมาณ 8 อาทิตย์ ก่อนหน้านี้มันจะเริ่มหัดกินอาหารแข็งโดยดูตัวอย่างจากแม่ตั้งแต่อายุ 3 ถึง 4 อาทิตย์ โดยที่ฟันน้ำนมจะขึ้นเต็มเมื่ออายุ 8 อาทิตย์ และฟันแท้เริ่มทดแทนตั้งแต่อายุ 12 ถึง 18 อาทิตย์

การฝึกและเรียนรู้ทางพฤติกรรมต่างๆ รวมถึงการเข้าสังคมของลูกแมวนั้นจะเห็นว่าเมื่อลูกแมวอายุ 4 ถึง 5 อาทิตย์ จะเริ่มการเรียนรู้ถึงวิธีการเล่นแบบต่างๆ เช่น ปล้ำกันเอง ถ้าอยู่หลายตัว โดยจะใช้การเฝ้ามองก่อน ลูกแมวจะหาของเล่นที่เคลื่อนไหวได้ซึ่งเกิดขึ้นตามพฤติกรรมการเป็นนักล่าของมัน และจะเล่นเกมส์ผู้ล่านี้เต็มที่เมื่ออายุได้ 6 ถึง 8 อาทิตย์ เช่น ท่านอาจเห็นลูกแมววิ่งไล่ตะครุบลูกบอลล์ หรือแม้แต่จิ้งจก แมลงสาป ตลอดจนหนูจริงๆ

หากท่านจะฝึกหัดให้ลูกแมวขับถ่ายในถาดหรือกะบะทรายละก็ควรเริ่มตั้งแต่แมวอายุ 3 ถึง 4 อาทิตย์

บางท่านจำเป็นต้องพรากลูกพรากแม่กล่าวคือ แจกจ่ายลูกแมวไปให้เพื่อนฝูงช่วยเลี้ยง สามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 6 ถึง 8 อาทิตย์ เป็นต้นไป แต่ถ้ายังปล่อยให้ลูกแมวอยู่รวมกับแม่ก็จะพบว่าลูกแมวจะแยกตัวเองเป็นอิสระไม่อยู่ในโอวาทของแม่เมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป เพราะจากลูกแมวก็จะกลายเป็นแมววัยรุ่นจึงออกเที่ยวเตร่ตามอำเภอใจ

เห็นไหมครับพัฒนาการต่างๆ ของลูกแมวเหมียวที่คุณควรรู้เพื่อประโยชน์สำหรับการเลี้ยงดู ทั้งกายและใจ เพื่อให้เติบโตเป็นแมวที่แข็งแรง น่ารักไงครับ

โชคดีครับ

กลับไปหน้า "คอลัมน์สัตว์เลี้ยง"