เมื่อเหมียวคลอดลูก

ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร

การคลอดหรือตกลูกของแม่เหมียวนั้นมีคนรู้รายละเอียดกันค่อนข้างน้อยกว่าหมา ฉะนั้นเพื่อให้คนรักเหมียวมีความรอบรู้ถึงขั้นตอนและความจริงของเจ้าเหมียวในการคลอดลูก ยังประโยชน์แก่การช่วยเป็นหมอตำแย (แมว) ยามจำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ ท่านอาจช่วยชีวิตทั้งแม่แมวลูกเหมียวไว้ได้

แมวเหมียวมีระยะตั้งท้องเฉลี่ยประมาณ 65 วัน แต่อาจคลอดก่อนหลังบวกลบ 7 วัน ซึ่งยังได้ลูกเป็นปกติ แต่ถ้าคลอดก่อน คือ เมื่อท้อง 58 วันละก็ลูกที่ออกมักตายเนื่องจากอ่อนแอ ส่วนพวกที่ตั้งท้องนานเกินไป คือ กว่า 71 วันละก็ลูกจะตัวโตเกินกว่าจะรอด และมักตายอีกนั่นแหละ บางทีแม่เหมียวอาจไม่แสดงอาการเบ่งเลยเมื่อถึง 71 วันแล้ว ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน

แมวคลอดลูกเองเป็นส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ลูกแมวร้อยละ 30 มักจะคลอดโดยเอาขาหลังโผล่ออกมาก่อน ซึ่งก็ไม่ถือว่าปกติและสามารถออกมาสูโลกได้อย่างปลอดภัย

  • ระยะแรกของการเบ่งคลอดใช้เวลาราว 6 ชั่วโมงนับจากปากมดลูกเริ่มเปิด มีถุงน้ำโผล่ออกมา จากนั้นมดลูกจึงเริ่มบีบตัว เจ้าเหมียวจะรีบไปยังรังคลอดที่หาไว้แล้ว จากนั้นแสดงอาการหายใจเร็วจนหอบ คราง ของเหลวใสๆ จะไหลออกจากช่องคลอด ต่อมาตอนท้ายของระยะแรกนี้ จะเปลี่ยนเป็นของเหลวสีขุ่น หรือมีเลือดปนเล็กน้อย
  • ระยะที่สองของการเบ่งคลอด ระยะนี้กินเวลาประมาณ 10 ถึง 30 นาที แต่ไม่ถึง 90 นาที เริ่มจากตัวลูกแมวที่ยังอยู่ในถุงหุ้มเคลื่อนผ่านปากมดลูก เจ้าถุงหุ้มตัวลูกนั้นจะปูดคล้ายลูกโป่งสีเทาขุ่นๆ ผลุบๆ โผล่ๆ ออกมาให้เห็นที่ปากช่องคลอดภายนอก ขณะนี้แม่เหมียวจะนอนนิ่งในรัง โดยมันจะออกแรงเบ่งเป็นระยะๆ ทุก 15 ถึง 30 วินาที ท่านจะเห็นลูกแมวโผล่ผ่านปากช่องคลอดออกมา จนสุดท้ายก็ผลุบออกมาหมดทั้งตัว
  • ระยะที่สามของการเบ่ง ทันทีที่ลูกแมวออกมาเรียบร้อยส่วนของรกจะทะลักตามมาติดๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นเช่นนี้กับลูกแมวทุกๆ ตัว การคลอดของแต่ละตัวจะประกอบด้วยขั้นตอนการเบ่งทั้งสามระยะเสมอ ยกเว้นพวกที่เป็นแฝดและอยู่ในถุงเดียวกัน

ทันทีที่ลูกแมวคลอดออกมา แม่เหมียวจะเริ่มเลียทำความสะอาดและกัดสายสะดือให้ขาดห่างจาก หนังหน้าท้องของลูกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แล้วถึงกินรกเข้าไปด้วย แต่ไม่เป็นอันตรายแก่มัน ทั้งนี้เนื่องจากสัญชาตญาณตามธรรมชาติ เพื่อทำลายหลักฐานอันจะเป็นสิ่งดึงดูดไม่ให้สัตว์อื่น มาล่าตัวหรือลูกของมัน

ปกติแล้วขบวนการกำเนิดกุมารแมวทั้งสิ้นกินเวลาตั้งแต่เพียง 5 นาที ถึง 2 ชั่วโมง ฉะนั้นหากเนิ่นนานกว่านี้ลองโทรศัพท์ปรึกษาสัตวแพทย์ดูนะครับ

 

กลับไปหน้า "คอลัมน์สัตว์เลี้ยง"