ดูแลแม่เหมียว

ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร

          หลังสิ้นเสียงหง่าว เสียงร้องเจี้ยวจ้าว และโครมคราม สงบเงียบลงแล้ว เจ้าแมวเหมียว ที่ได้รับการผสมกับไอ้หง่าวบนหลังคาบ้านก็เริ่มมีการปฏิสนธิขึ้นพร้อมกับการเจริญพัฒนาการ ของตัวอ่อนในมดลูก เจ้าเหมียวจะไม่กลับเป็นสัดอีก (แต่ถ้ากลับเป็นสัดอีกในช่วง 2-3 อาทิตย์ละก็ หมายความว่ามันไม่ตั้งท้อง สามารถผสมพันธุ์ได้อีกทันที)

ลักษณะอาการที่บ่งบอกถึงการตั้งท้องของแม่แมวซึ่งพอจะสังเกตได้คือ

    1. หัวนมจะเป็นสีชมภูและแดงขึ้นตั้งแต่อาทิตย์ที่ 3 ของการตั้งท้อง รวมถึงเต้านมที่เริ่มขยายใหญ่ด้วย
    2. น้ำหนักตัวแม่แมวจะเพิ่มขึ้นอีก 1 ถึง 2 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณจำนวนลูกในท้อง
    3. ขนาดของช่วงท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นและทิ้งตัวห้อยหย่อนลง
    4. เริ่มแสดงพฤติกรรมความเป็นแม่ออกมา เช่น ออกหาที่ทำรัง ดูแลตัวเองมากขึ้น ลดการกระโดดโลดเต้นลง กินอาหารเพิ่มขึ้น

ระยะตั้งท้องของแมวใช้เวลาประมาณ 9 อาทิตย์ หรือ 63 วัน ซึ่งช่วงก่อนคลอดนี้เจ้าของควรปรึกษาสัตวแพทย์เกี่ยวกับการบำรุงร่างกายแม่แมว การถ่ายพยาธิ และวัคซีนที่จำเป็น

อาหารการกินต้องเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงวิตามินแร่ธาตุที่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งแคลเซียม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกของลูก นมของแม่ และช่วยให้กล้ามเนื้อแม่เหมียวแข็งแรงพร้อมจะเบ่งเอาลูกๆ ออกมาดูโลก

เมื่อเข้าสู่ระยะท้ายๆ ใกล้คลอดขนาดลูกแมวในมดลูกจะโตขึ้นทำให้ไปกดดันลำไส้ เป็นผลให้แม่แมวเกิดปัญหาท้องผูกถ่ายลำบาก ฉะนั้นควรปรึกษาหมอเหมียวเพื่อขอรับยาหล่อลื่นอุจจาระ เช่น พาราฟินเหลวผสมอาหารหรือป้อนให้กินจะช่วยให้ขับถ่ายคล่องขึ้น

การดูแลด้านจิตใจสำหรับคุณแม่ตัวใหม่ก็มีความจำเป็นไม่น้อย ท่านต้องให้การดูแลและความรักคอยโอบอุ้ม ลูบไล้ให้ความรู้สึกมั่นใจและปลอดภัยแก่แม่เหมียว รวมถึงจัดหา “รังคลอด” ที่เหมาะสมทั้งขนาด รูปร่าง มีความสะดวกสบายแก่แม่และลูก รวมถึงให้ความปลอดภัยด้วย เช่น ปราศจากการรบกวนจากคน หนู และแมลงสาป (มดด้วย) ขนาดรังนอนควรพอที่แม่แมวจะกลับตัวได้สะดวกและไม่เบียดทับลูกแมว ซึ่งอยู่ประมาณขนาด 50 เซนติเมตร x 50 เซนติเมตร ปูรองพื้นด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือผ้าสะอาด จัดทำไว้ให้แม่แมวเข้าไปสำรวจทดลองใช้นอนเล่นจนคุ้นเคยก่อน เมื่อถึงเวลาจริงจะได้ไม่ตื่นกลัว เจ้าของเองอย่างลืมจดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์เที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงไว้เผื่อกรณีไม่สามารถคลอดเอง จะได้นำไปรับการผ่าตัดทันท่วงที

เชื่อว่าถ้าปฏิบัติตามที่ให้ไว้นี้แม่เหมียวตัวใหม่คงได้ลูกสมใจเป็นแน่แท้

 

กลับไปหน้า "คอลัมน์สัตว์เลี้ยง"