น.สพ. , สพ.ญ.

ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร

เนื่องจากมีท่านผู้อ่านเจ้าของสัตว์เลี้ยง ผู้เลี้ยงสัตว์ และประชาชนทั่วไปสอบถามกันมามากมาย ถึงคำย่อที่จั่วหัวไว้ข้างบนนี้ว่า ย่อมาจากอะไร ? หมายความว่าอย่างไร ? สำคัญไฉน ? บางท่านก็สับสนกับคำย่อที่คล้ายคลึงกัน เช่น

น.ส.พ. ย่อมาจากคำว่า หนังสือพิมพ์ แล้วมันต่างกับ น.สพ. อย่างไร ? ต่างสิครับตรงตำแหน่งเครื่องหมายจุดมหัพภาค เห็นไหมครับว่าระหว่างอักษร “ส” กับ “พ” ไม่มีจุด ทำให้มันย่อมาจาก คำว่า “สัตวแพทย์” อักษร “น” นำหน้าคือ “นาย” รวมกันเป็น “น.สพ.” ย่อมาจากคำว่า “นายสัตวแพทย์” ส่วน “สพ.ญ.” ก็ทำนองเดียวกัน ย่อมาจากคำว่า “สัตวแพทย์หญิง” “ไม่มีนางหรือนางสาวสัตวแพทย์นะครับ)

อันว่า น.สพ. และ สพ.ญ. หรือนายสัตวแพทย์ และสัตวแพทย์หญิง นั้นก็เป็น “หมอบ๊อก” และ “หมอเหมียว” ประจำบ้านท่านทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งกว่าจะมาเป็นได้ก็ต้องเรียนครบจบหลักสูตร จากมหาวิทยาลัย ใช้เวลา 6 ปีเฉกเช่นเดียวกันกับวิชาชีพแพทย์ (คน) และทันตแพทย์ ปริญญาที่ได้รับคือ “สัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต”   หรือย่อว่า “สพ.บ.” มีศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาครบทุกประการ แต่การมีเพียงในปริญญา สพ.บ. นั้นมิอาจทำการบำบัดโรคสัตว์ เช่น เปิดคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อรักษาสัตว์เป็นอาชีพแก่ชาวบ้านทั้งหลายได้ทันที น.สพ. หรือ สพ.ญ. นั้นๆ ต้องมีใบอนุญาตที่เรียกว่า “ใบอนุญาตประกอบการบำบัดโรคสัตว์” เสียก่อน ซึ่งออกให้ตามกฎหมาย คล้ายๆ กับในอนุญาตประกอบโรคศิลป์ของแพทย์ (คน) นั่นแหละ ทั้งนี้ผู้ควบคุมและออกใบอนุญาตดังกล่าวคือ “คณะกรรมการควบคุมการบำบัดโรคสัตว์” ขึ้นกับกรมปศุสัตว์

ผู้ที่จบการศึกษาได้รับปริญญา สพ.บ. สามารถใช้คำนำหน้า น.สพ. หรือ สพ.ญ. ตามแต่กรณี (เพศ) สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบการบำบัดโรคสัตว์ประเภท ชั้น 1 ซึ่งหมายถึงว่าสามารถทำการบำบัด โรคสัตว์ได้ทุกสาขา ไม่ว่าจะรักษาด้วยยา ทำคลอด วางยาสลบ ฯลฯ เรียกว่าครบถ้วนกระบวนความ แห่งการเป็นหมอสัตว์ปริญญา ท่านเจ้าของสัตว์สามารถให้ความไว้วางใจพาสัตว์เลี้ยงของท่าน ไปเข้ารับการรักษาหรือขอรับคำแนะนำ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการทางสัตวแพทย์อย่างเต็มที่และสนิทใจ

ฉะนั้นทุกครั้งที่พาสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะบ๊อกๆ หรือเหมียว ไปคลินิก โปรดสังเกตดูใบอนุญาต ให้เป็นผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ของหมอในคลินิกนั้นๆ ดูซิว่ามีหรือไม่ ? และโปรดตรวจสอบดูว่า รูปคุณหมอที่ปรากฎบนใบอนุญาตนั้นเหมือนกับตัวคุณหมอที่กำลัง ทำการรักษาสัตว์เลี้ยงของท่านอยู่หรือไม่ ? เนื่องจากเคยมีการแขวนใบอนุญาตไว้ แต่มีบุคคลอื่นที่มิได้เป็น เจ้าของใบอนุญาตฉบับดังกล่าวมาทำการรักษาสัตว์แทน จนเป็นคดีความกันมาแล้ว ซึ่งกรณีเช่นนี้มีความผิดทางกฎหมายทั้งผู้ที่สวมรอยเป็นหมอ และตัวหมอที่อนุญาตให้ผู้มิใช้หมอ มาทำการรักษาสัตว์แทนตน หากเจอเช่นนี้เรียกตำรวจจับเลยครับถือว่าช่วยกันดูแลกำจัด มิจฉาชีพที่มาซ้ำเติมกันในยุค ไอ เอ็ม เอฟ อีกทั้งยังนับว่าเป็นการช่วยกำกับดูแล น.สพ. และ สพ.ญ. ที่ประพฤตินอกลู่นอกทางให้กลับมาสู่วิถีทางแห่งการประกอบวิชาชีพที่ถูกต้องอีกด้วยครับ

 

กลับไปหน้า "คอลัมน์สัตว์เลี้ยง"