หวัดเหมียว ..... หวัดแมว

ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร

วันหนึ่งท่านพบว่า เจ้าเหมียวของท่านและลูกๆ ของหล่อน อายุอานามเพียง 2-3 อาทิตย์ มีอาการไอ จาม ขี้มูกเขียว ไหลย้อย หรืออุดเต็มรูจมูก น่าตาทรุดโทรม ขนสกปรก เบื่ออาหาร มีไข้ ตาแดง จนบางครั้ง มีขี้ตามาก ทำให้ตาปิด เสียงร้องที่เคยมีกลับแหบแห้งหายไป มันมักจะเริ่มเป็นจากตัวใดตัวหนึ่งก่อน แล้วจึงแพร่ไปสู่ตัวอื่นๆ ซึ่งหากทิ้งไว้ก็เชื่อได้แน่ว่าเป็นครบทุกตัวในครอกcatcry.gif (5759 bytes) ผลสุดท้ายลูกแมวส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องมักจบชีวิตลง

เจ้าโรคภัยที่ว่าของแมวนี้เราเรียกว่า “หวัดแมว” หรือฝรั่งเรียกว่า “Cat Flu” โดยมีที่มาจากอาการของระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกับหวัดคนนั่นเอง แต่ต้นเหตุของหวัดแมวนั้นมาได้จากไวรัสที่จำเพาะในแมว 3 ชนิด ด้วยกัน และริคเก็ทเซียอีกหนึ่งชนิด ไวรัส 2 ใน 3 ชนิดจัดเป็นสาเหตุสำคัญของหวัดแมว คือ FVRV และ FCV (ไม่ใช่ HIV นะครับ)

FVRV หรือ Feline Viral Rhinotracheitis Virus

จัดเป็นเจ้าไวรัสตัวร้ายที่สุดในบรรดาไวรัสที่ก่อให้เกิดหวัดแมว หลังจากแมวได้รับเชื้อ FVRV เข้าไป มันจะใช้ระยะฟักตัว 2 ถึง 10 วัน แล้วก่อให้เกิดการอักเสบของตา จมูก หลอดลม ทำให้แมวมีน้ำตาไหล น้ำมูก และเสมหะ เจ้าเหมียวจะแสดงอาการซึม หายใจลำบาก เป็นไข้ ไอ จาม และเบื่ออาหาร แล้วเชื้อแบคทีเรียทั้งหลายซึ่งจ้องท่ารออยู่แล้วก็จะเข้ามาซ้ำเติมทำให้มีขี้ตา และขี้มูกข้น เหนียว จนเป็นหนองออกมา ในระยะนี้อาจพบแผลหลุมเป็นวงๆ บนลิ้น แมวจะรู้สึกเจ็บ ทำให้ไม่อยากกินอาหาร ความรุนแรงของโรคจากเชื้อ FVRV คือ ปวดบวม และเยื้อหุ้มปอดอักเสบ เป็นผลให้ลูกแมวและแมวสูงอายุถึงกับเสียชีวิตได้ง่ายๆ

FCV หรือ Feline Calici Virus

ไวรัส FCV สามารถทำให้เกิดหวัดแมวที่รุนแรงในระดับเดียวกับ FVRV ก็ได้ หรือเป็นอ่อนๆ แค่น้ำมูกไหล ไอ จาม 2-3 วันก็ได้เช่นกัน แต่อาการที่ค่อนข้างชัดเจนจาก FCV คือ แผลหลุมบนลิ้น น้ำลายไหลยืดตลอดเวลา จนบางครั้งเจ้าของคิดว่าแมวโดนยาเบื่อไปเสียนี่ การที่แมวกินไม่ได้เพราะแผลในช่องปากเป็นเหตุให้ผ่ายผอม ซูบซีดอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ FCV ไม่มีผลต่อตาและจมูก ทำให้แยกได้จาก FVRV

Reovirus

เป็นไวรัสชนิดที่ 3 ซึ่งสามารถทำให้เกิดหวัดแมวได้ แต่มีความรุนแรงของโรคต่ำกว่า 2 ชนิดที่ว่าไปแล้ว ส่วนมากเป็นเพียงหวัดธรรมดาเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถึงตาย

หวัดแมวติดต่อกันได้อย่างไร ?

หวัดแมวเป็นโรคติดต่อของระบบการหายใจ โดยที่เชื้อไวรัสปลิวล่องลอยมาในอากาศจากแมวที่มีเชื้อ แล้วถูกสูดดมเข้าร่างกายแมวปกติ หรือการสัมผัสกันโดยตรง ทั้งนี้เราสามารถพบได้ในหลายๆ โอกาสที่มีแมวมาอยู่รวมกันมากๆ เช่น งานประกวดแมว หรือภายในคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ ที่ซึ่งแมวดีมาพบแมวป่วย การรับเชื้อจึงป้องกันได้ยากมาก

แมวที่หายป่วยจาดโรคหวัดแมวแล้วยังคงเป็นพาหะหรือรังโรคต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

การรักษาพยาบาลเหมียวเป็นหวัด

เมื่อท่านพาเจ้าเหมียวไปพบสัตวแพทย์ และการวินิจฉัยออกมาว่าเป็นหวัดแมว การรักษาก็คือ ใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันโรคแทรกจากเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงยาลดอักเสบและเสมหะของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งหากสภาพร่างกายของเจ้าเหมียวทรุดโทรม ขาดน้ำ ขาดอาหาร ก็จะได้รับการทดแทนชดเชยผ่านสารอาหารเหลว เช่น ให้น้ำเหลือ วิตามินฉีดเข้าเส้นเลือด ฯลฯ ข้อสำคัญท่านเจ้าของเองต้องให้ความร่วมมือดูแลสัตว์เลี้ยงของท่านอย่างเต็มที่ เช่น ป้อนยา ป้อนอาหาร เช็ดขี้มูก ขี้ตา อย่าให้เกรอะกรัง และปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด

วิธีป้องกันหวัดแมว

  • พาแมวเหมียวไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันหวัดแมวเมื่ออายุ 9 อาทิตย์ขึ้นไป

  • หลีกเลี่ยงการนำแมวที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันไปปะปนกับแมวภายนอกหรือสังคมแมวอื่นๆ

  • หากต้องนำแมวเหมียวไปฝากเลี้ยง ณ สถานที่ใดก็ตามต้องแน่ใจว่าแมวเหมียวของ ท่านมีภูมิคุ้มกันต่อโรคหวัดแมวดีแล้ว

กลับไปหน้า "คอลัมน์สัตว์เลี้ยง"