การดูแลแมวหมาหลังผ่าตัด

ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร

หมาแมวที่ท่านทั้งหลายเลี้ยงไว้อยู่นี้ย่อมมีโอกาสได้รับการผ่าตัดอยู่บ้างไม่มากก็น้อยในชั่วชีวิตของเขา ยกตัวอย่างเช่น การผ่าตัดทำหมันซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุด และหมา แมวส่วนใหญ่ล้วนผ่าน ประสบการณ์อันนี้มาแล้ว การผ่าตัดตกแต่ง เช่น ตัดหู ตลอดจนเพื่อการรักษาเช่น ตัดม้าม ตัดไต ฯลฯ ซึ่งดูดๆแล้วก็ไม่แตกต่างจากมนุษย์เรานัก

หลายรายที่ต้องเสียชีวิตไปหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอันไม่พึงประสงค์อื่นๆ ขึ้น เช่น หมาเพศเมีย ถูกนำไปทำหมันแล้วปรากฏว่าแผลแตก ไส้ห้อยร่องแร่ง เจ้าของไส้ก็เลยกัดแทะไส้ที่ทะลัก ออกมานั้นเล่นจนถึงตายก็มี ฯลฯ ซึ่งสัตวแพทย์ทั้งหลายจะพบว่าอัตราการเกิดเหตุหรือภาวะ แทรกซ้อนหลังผ่าตัดนั้น เป็นสาเหตุของการตายมาก เสียยิ่งกว่าสัตว์ที่จะตายด้วยกระบวนการ ผ่าตัดเสียอีก เรียกว่า “Operation Success but Patient die” หรือ “ผ่าตัดสำเร็จแต่สัตว์ป่วยตาย” ฉะนั้นถ้าท่านเจ้าของจะได้รู้ถึงการดูแลภายหลังผ่าตัด สำหรับหมาแมวและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมแล้ว ก็เชื่อว่าท่านคงจะมีโอกาสประสบ ความเสียหายหรือสูญเสียน้อยลงมาก

  1. เชื่อหมอ : ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำและนัดหมายของสัตวแพทย์เจ้าของไข้ ผู้ผ่าตัด ให้แมวหมาของท่านอย่างเคร่งครัด หากไม่เข้าใจหรือสงสัย ตลอดจนพบ เหตุผิดปกติ ไม่ชอบมาพากลอย่างไรให้รีบปรึกษาสอบถามจนเข้าใจจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง
  2. ลดวิ่ง ลดซน : ครั้งแรกจะเขียนว่างดก็คงเป็นไปได้ยาก เอาว่าแค่ลดการวิ่ง ซุกซน ออกแรงอย่างหนักเช่น ไล่กัดกัน หรือกระโดดโลดเต้น เพราะจะทำให้แผลที่เย็บไว้ ปริหรือฉีกขาด บางรายชั้นกล้ามเนื้อที่เย็บไว้หลุดก็ยังมี มักพบบ่อยในหมาที่ทำหมัน ดังนั้นจึงควรขังไว้จนกว่าจะตัดไหม
  3. กินแต่พอประมาณ : กรณีการผ่าตัดในช่องท้อง เช่น ทำหมัน หรือตัดมดลูก ฯลฯ เราควรให้หมา แมวที่เพิ่งฟื้นกินอาหารแต่พอประทังชีวิต ไม่ควรให้กินเต็มที่หรือ มากจนท้องป่อง เพราะเป็นการเพิ่มความดันในช่องท้องให้มากขึ้น แผลอาจปริแยกง่าย
  4. ป้องกันกัดแทะแผล : ด้วยนิสัยและพฤติกรรมของหมาแมว เมื่อมีแผลก็จะต้องเลีย บางครั้งก็แทะ เพราะคันแผลที่กำลังจะหาย ผลก็คือไหมหลุด แผลจึงแตกแยกออก ที่หนักหนาหน่อยก็คือพวกแผลเย็บที่ช่องท้อง ทะลุหลุดเครื่องในไหลออกมากองอยู่ นอกตัว ถ้าหมอช่วยทันก็ยัดกลับเข้าไปเย็บใหม่ แต่บางรายโชคไม่ดีพวกเล่นกัดกิน เครื่องในของตัวเองเสียนี่ ฉะนั้นเจ้าของควรใช้เสื้อยืดเก่าๆ หรือผ้าดิบ ตัดเป็นเสื้อใส่คลุมช่องแผลที่ถูกผ่าตัด เช่น ที่ช่องท้อง หรืออาจใส่ปลอกคอกันเลีย กันแทะ ทำด้วยพลาสติก หมา แมวจะหันมาแทะแผลไม่ได้เนื่องจากติดแผง พลาสติกซึ่งบานเป็นกระด้งอยู่รอบคอ ฝรั่งเรียกปลอกคอแบบนี้ว่า Elizabethan collar
  5. หมั่นตรวจตราแผลและอาการ :เจ้าของต้องดูว่าแผลเย็บสะอาด ปราศจากหนอง ไม่มีเลือดไหลซึม หรือรอบปริแยก หากพบให้รีบปรึกษาหมอผู้ทำการผ่าตัด รวมถึงตรวจอาการเบื้องต้นอื่นๆ ที่สำคัญคือ ไม่ไข้หรือไม่ ? กินอาหารหรือไม่ ? มีอาการอาเจียรหรือท้องเสียหรือเปล่า ? เยื่อชุ่มเช่นเหงือกและเปลือกตาด้านในซีดกว่าปกติหรือไม่ ?
  6. ระวังเพื่อนแทะแผล : ท่านที่เลี้ยงหมาแมวไว้หลายตัว มักพบว่าจะมีหมาพยาบาล แมวพยาบาล คอยมาช่วยเลีย ช่วยแทะบาดแผลให้พรรคพวกจะด้วยรัก หรือเป็นห่วง หรืออร่อยก็ไม่แน่ชัด ด้วยพฤติกรรมนี้ก็มีส่วนทำให้บาดแผลสกปรกติดเชื้อ รวมถึงแตก ฉะนั้นต้องป้องกันพวกหวังดีนี้ไว้ด้วย
  7. อย่าให้แผลสกปรก : หมา แมว เมื่อเริ่มทุเลาบรรเทาคลายความเจ็บบาดแผล ก็มักจะเริ่มปฏิบัติกิจวัตร ออกไปวิ่งเล่นซุกซนตามประสา ลงน้ำ ลุยโคลน คลุกฝุ่น คลุกดินไปตามเรื่อง นับว่าเป็นอันตรายยิ่ง เพราะจะทำให้บาดแผลติดเชื้อ และเป็นหนองตามมา บางรายก็หนักหนาสาหัสขนาดต้องเปิดแผลแล้วเย็บใหม่ หรือช่องท้องอักเสบเฉียดตายก็มี ฯลฯ ฉะนั้นต้องดูแลอย่าให้เกิดความสกปรก ชื้นแฉะ และหมักหมมบริเวณบาดแผลผ่าตัดเป็นอันขาด

จากบัญญัติ 7 ประการที่ให้ไว้นี้ ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะนำไปใช้ในการดูแล จัดการ แมว หมา หลังผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย โชคดีครับ

 

กลับไปหน้า "คอลัมน์สัตว์เลี้ยง"