พาหมาเที่ยว

ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร

เพื่อเป็นการสนองตอบต่อนโยบายใช้ของไทย กินของไทย และเที่ยวเมืองไทย ในยามเศรษฐกิจขาลงสวนกับเงินบาทลอยตัวพุ่งขึ้นฟ้าเช่นนี้ ตลอดจนเฉลิมฉลองร่วมปี Amazing Thailand ด้วยการท่องเที่ยวในประเทศดังเจตนารมณ์ของรัฐบาล

คนรักหมาก็รักชาติบ้านเมือง ฉะนั้นเมื่อคนไปเที่ยวได้ ไฉนเลยจะปล่อยให้หมาแสนรักอยู่โยงเฝ้าบ้าน แต่เดียวดาย หมาของหลายบ้านจึงมีวาสนาเที่ยวทั่วไทยไปกับเจ้าของ ดังนั้นเพื่อให้การท่องเที่ยว สนุกสนานไม่ทรมานและปลอดภัยทั้งหมา และคน จึงควรสนใจในคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ แต่ประโยชน์มหาศาลนี้หน่อยนะครับ

ข้อปฏิบัติในการพาหมาเที่ยวdogeye02.jpg (6711 bytes)

  • พาหมาไปฉี่หรืออึเสียก่อนออกเดินทาง
  • ถ้าเดินทางไกล อาจให้อาหารและน้ำกินเพียงเล็กน้อย ไม่เกินหนึ่งในสามส่วนของการ กินปกติ
  • การหยุดพักทุก 2 ถึง 3 ชั่วโมง เพื่อพาหมาออกมายืดแข้งยืดขา กินน้ำ และฉี่ (เช่นเดียวกับเจ้าของ)
  • ถ้าต้องการเดินทางยาวนานไกลมากๆ ราวๆ 4-5 ชั่วโมง แล้วควรให้อาหารเขากิน บ้าง จะทำให้ไม่กระสับกระส่าย
  • จัดหากรงที่มีขนาดเหมาะสมกับตัวหมา คือ ไม่คับแคบ หรือใหญ่เกินไป ทำจากวัสดุ มั่นคงแข็งแรง มีช่องระบายอากาศถ่ายเทดี และมีวัสดุรองนอนตลอดจนดูดซับสิ่งขับถ่ายเพียงพอ

การท่องเที่ยวโดยพาหมาไปนั้นส่วนใหญ่มักใช้ทางบก คือ รถยนต์ ที่ไปไกลหน่อยมีเงินมากหน่อยก็ใช้เครื่องบิน

สิ่งที่มักเป็นปัญหาแก่ท่านเจ้าของ คือ หมาเมารถ และอาการของเจ้าตูบก็เช่นเดียวกับคน แหละครับ คายของเก่าออกมาให้หึ่งทั้งรถเชียว บางรายก็มีปัญหาของเรื่องการอยู่ไม่สุข ยุกยิก เห่าหอนทุกครั้งที่ขึ้นรถ สิ่งเหล่านี้ถ้าท่านฝึกหัดเขาตั้งแต่ยังเป็นลูกหมา เช่นพานั่งรถเล่น ระยะใกล้ๆ หรือแม้แต่ให้เขาเข้าไปสำรวจในรถที่จอดเป็นประจำ นั่นย่อมสร้างความเคยชิน ให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาการเมารถที่อาจเกิดขึ้นตอนโตก็จะมีโอกาสน้อยลง รวมถึงอาการ กระวนกระวายทั้งหลายด้วย

แต่ก็มีหมาบางตัวที่เมารถ แพ้รถ นั่งรถยนต์ (ที่วิ่ง) เมื่อไรไม่ว่าจะใกล้แค่ไหน ไม่นานเท่าไร ทุกครั้งเป็นต้องออกอาการร่ำไป หมาที่มีปัญหาหนักหนาเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัว อาจเนื่องจากมีความอ่อนไหวต่อการนั่งรถยนต์ ปัญหาของระบบการทรงตัว ฯลฯ การฝึกดังที่กล่าวไปมิสามารถช่วยได้ มีทางเดียวต้องให้กินยาแก้เมารถก่อนออกเดินทางราว 20 นาที ซึ่งต้องปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนใช้ และควรงดอาหารก่อนเดินทาง ย่อมช่วยผ่อนหนัก ให้เป็นเบา เจ้าของไม่ต้องเป็นธุระทำความสะอาดพื้นรถ (ที่ร้ายคงจะเป็นกลิ่นที่ติดรถ ติดจมูก) การพาหมาเที่ยวย่อมสุขทั้งคนและหมาในครานี้

สำหรับการพาหมาเที่ยวโดยทางรถยนต์นั้นสามารถทำได้หลายแบบนับตั้งแต่วิธีง่ายๆ ใช้กันเป็นประจำ คือ เอาหมาใส่ในตัวเก๋งหรือห้องโดยสารของรถยนต์นั่งกับคน หรือใส่ท้ายกะบะ ตลอดจนใส่กรงวางท้ายรถ หรือใต้ท้องรถทัวร์

ข้อแนะนำสำหรับการเอาหมานั่งไปกับคนก็คือ ควรผูกหรือมีตะแกรงกันหมาไว้เป็นสัดส่วนไม่ให้ก่อความวุ่นวายรบกวนคนขับและคนโดยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อโชเฟอร์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะใช่ว่าทุกคนจะรัก จะชอบหมาไปเหมือนกันหมด บ้างอาจจะสะดุ้งสุดตัวเมื่อหมาเข้าใกล้ หักพวงมาลัยพารถประสานงาเสียง่ายๆ

กลิ่นตัว ฉี่ อึ เสียงร้อง เห่าหอน รวมถึงขนที่ปลิวว่อนล้วนเป็นตัวก่อกวนสมาธิของผู้ที่กำลังขับรถ รวมถึงผู้โดยสารอื่นๆ อีกด้วย ฉะนั้นจึงต้องคำนึงให้มาก เอาใจเขามาใสใจเราดูบ้าง ท่านเจ้าของหมาอาจไม่รู้สึกแต่คนอื่นล่ะจะเป็นอย่างไร ?

การปล่อยให้หมาโผล่หัวจากรถยนต์ออกมารับลม ชมวิว โดยปราศจากการควบคุมดูแลนับเป็นอันตรายอีกอย่างที่น่ากลัวยิ่ง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุถูกรถเฉี่ยวหัวหรือแข้งขาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ฉะนั้นทางที่เหมาะสมควรจัดหาตะแกรงปิดตรงช่องหน้าต่างรถ หรือแง้มเพียงเล็กน้อยพอให้มีลมเข้ามา อย่างมากก็ให้แหย่ๆ จมูกออกมานิดหน่อย แต่ทางที่ดีควรผูกสายจูงไว้ให้สั้นด้วยจะปลอดภัยยิ่งขึ้น

ส่วนการนำพาหมาโดยซ้อนหรือนั่งบนมอร์เตอร์ไซด์นั้น รับรองได้ว่าไม่ปลอดภัยทั้งหมาและโชเฟอร์ จะกระทำได้ก็เพียงแค่หมาเล็กๆที่บรรจุในกรงซึ่งแข็งแรงผูกมัดติดกับอานรถอย่างมั่นคง

หมาวาสนาดีหน่อยมีโอกาสขึ้นเครื่องบินนั้น ก็ย่อมต้องปฏิบัติตามกฎกติกาที่องค์การขนส่งทางอากาศนานาชาติเขาบัญญัติไว้ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวหมาเอง และเครื่องบินเป็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

  • หมาพันธุ์หน้าสั้น จมูกสั้น เช่น พันธุ์บ๊อกเซอร์ บูลด๊อก ปักกิ่ง และปั๊ก ต้องปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หากจะเดินทางด้วยเครื่องบิน เพราะอาจหายใจลำบากถึงตายได้ เนื่องจากปัญหาความกดดัน ซึ่งตามปกติแล้วจะต้องอยู่ในกรงที่มีช่องระบายอากาศขนาดใหญ่
  • ไม่แนะนำให้ขนส่งหมาที่กำลังเป็นสัดทางอากาศ
  • หมาแม่ลูกอ่อน และลูกของมันห้ามขึ้นเครื่องบิน
  • ลูกหมาแม้หย่านมแล้ว แต่อายุต่ำกว่า 8 อาทิตย์ก็ไม่ยินยอมให้ขนส่งทางอากาศ
  • ลูกหมา ลูกแมว สามารถขนส่งไปทางอากาศได้แต่ต้องแยกขังกรงจากกัน
  • ระบุชื่อหมาและเจ้าของไว้บนกรงที่บรรจุสัตว์เสมอ

กรงที่ใช้ขังหมาเพื่อการโดยสารเครื่องบินนั้นเขาก็มีเกณฑ์สำคัญๆ ไว้ดังนี้

  • ทำจากวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง เช่น ไฟเบอร์กล๊าส โลหะ หรือพลาสติกแข็ง (ปัจจุบันไม่มีกรงไม้อีกแล้ว)
  • ปลายด้านหนึ่งของกรงควรจะโปร่ง โดยใช้กั้นด้วยแท่งเหล็ก หรือตาข่าย
  • มีประตูเข้าออกเป็นบานเลื่อน หรือสวิง
  • มีช่องระบายอากาศโดยรอบ และอยู่ที่ระดับ 1 ใน 3 ของความสูง
  • กรงต้องใหญ่พอที่หมาจะลุกยืน กลับตัวและนอนได้อย่างสบาย
  • ช่องหรือรูใดๆ ต้องมีขนาดไม่ใหญ่จนตีนหรือจมูกของหมาจะโผล่ออกมาภายนอกได้

ด้วยเนื้อหาสาระที่นำมาเล่าสู่กันฟังดังที่ผ่านมาแล้วนี้หวังว่าคงเป็นประโยชน์ในการพา หมาเที่ยวของท่านผู้อ่านให้สำราญบานใจในปีอะเมซิ่งไทยแลนด์ ต่อไปนะครับ

กลับไปหน้า "คอลัมน์สัตว์เลี้ยง"